โรคหัวใจ
อาการแสดงที่พบบ่อยในโรคหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ใจสั่น วูบ หมดสติ เหนื่อย หายใจไม่อิ่ม นอนราบไม่ได้ แขนขาบวม ทำงานได้ลดลง เหนื่อยเร็วขึ้น วิงเวียน ปวดศีรษะ เป็นต้น
การป้องกันและตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ
โรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งจัดเป็นกลุ่มโรคที่คร่าชีวิตประชาชนไทยเป็นอันดับต้น และด้วยนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจดีขึ้นมากด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างไรก็ตามความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมีความสำคัญมากกว่า เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตได้ดีกว่าที่จะให้การรักษาผู้ป่วยหลังจากที่มีอาการแล้ว
เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยด้านหัวใจ (Non-Invasive)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
การตรวจหาความผิดปกติของจังหวะ/ อัตราการเต้นของหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)
การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ใช้ตรวจความสามารถและความผิดปกติของหัวใจในขณะออกกำลังกายด้วยการเดิน-วิ่งบนสายพานลู่วิ่ง มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
ด้วยเทคโนโลยีการจำลองภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจากเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูการทำงานของหัวใจแบบเป็นภาพเคลื่อนไหว ดูการวิ่งของกระแสเลือด ดูประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ ดูขนาดห้องหัวใจ และ การทำงานของลิ้นหัวใจ
การบันทึกติดตามการทำงานคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG Holter Monitoring)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพาตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ตรวจจับจังหวะการเต้นผิดปกติของหัวใจที่ซ่อนอยู่ เพื่อสืบค้นและวินิจฉัยโรคที่แฝงอยู่ ทำให้สามารถป้องกันภัยเงียบของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต